การผลิตเกลือ

การผลิตเกลือสินเธาว์

       เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินเค็ม เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยาในพื้นที่หลายๆ จังหวัดมีชั้นเกลือหินและโพแทชอยู่หลายชั้น ซึ่งจะละลายปนอยู่ในชั้นน้ำใต้ดินเป็นสารละลายเกลือ และเกิดการแพร่กระจายไปตามทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน และบางส่วนก็ถูกพาขึ้นมาสะสมอยู่บนผิวดิน ซึ่งเราสามารถแยกเกลือออกมาโดยใช้วิธีการที่แตกต่างกันตามลักษณะของการเกิดเกลือตามธรรมชาติ ดังนี้


  1. เกลือจากผิวดิน ทำได้โดยขุดคราบเกลือตามผิวดินมาละลายน้ำ กรองเศษดินหรือตะกอนออก นำน้ำเกลือที่ได้ไปเคี่ยวให้แห้งจะได้เกลือตกผลึกออกมา การทำเกลือโดยวิธีนี้นิยมทำกันมากในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคาม อุดรธานี สกลนคร และร้อยเอ็ด เป็นต้น

  2. เกลือจากน้ำเกลือบาดาล เกลือบาดาลจะมีอยู่หลายระดับ อาจเป็นระดับตื้น 5-10 เมตร หรือระดับลึก 30 เมตร ในการผลิตเกลือจากน้ำเกลือบาดาลนี้ ทำได้โดยขุดหรือเจาะลงไปใต้ดินและสูบน้ำเกลือขึ้นมา แล้วนำน้ำเกลือที่ได้ไปต้มในกระทะเหล็กใบใหญ่ โดยใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมาก ต่อมาจึงใช้ลิกไนต์แทนฟืน

    นอกจากวิธีต้มแล้ว การตาก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมาก เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องเชื้อเพลิง แต่ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้น้ำระเหยไป จะได้เกลือตกผลึกออกมา วิธีนี้เรียกว่า การทำนาตาก โดยสูบน้ำจากบ่อเกลือบาดาลมาใส่ในนาตาก ซึ่งทำเป็นลานดินหรือลานซีเมนต์

    ปัจจุบันมีการทำนาเกลือบาดาลกันมากบนเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ ได้แก่ บริเวณจังหวัดมหาสารคาม นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร ชัยภูมิ และหนองคาย เป็นต้น

  3. เกลือจากชั้นเกลือหิน ทำได้โดยอัดน้ำจืดลงไปละลายเกลือในชั้นเกลือหิน แล้วนำสารละลายที่ได้มาทำให้บริสุทธิ์ โดยเติมสารละลาย NaOH กับ Na2CO3 เพื่อกำจัดแคลเซียมไอออนและแมกนีเซียมไอออน ดังปฏิกิริยา



    กรองแล้วนำสารละลายเกลือที่ได้ไปตกผลึก จะได้ผลึก NaCl เมื่อตกผลึกไปนานๆ NaCl ในสารละลายจะมีปริมาณลดลง แต่ในสารละลายจะยังมีโซเดียมฟอสเฟต และโซเดียมคาร์บอเนตละลายอยู่ ซึ่งเป็นเกลือที่ไม่ต้องการ เรียกสารละลายนี้ว่า น้ำขม จึงต้องกำจัดไอออนต่างๆ ออก โดยเติม CaCl2 ในปริมาณที่พอเหมาะลงไปจะเกิด CaSO4 และ CaCO3 ซึ่งไม่ละลายน้ำดังสมการ



    สารละลายที่ได้สามารถนำไปตกผลึก NaCl ได้อีก กระบวนการผลิตเกลือที่เกิดจากการละลายเกลือในชั้นที่มีเกลือหิน แสดงได้ดังรูปด้านล่างนี้




      เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่เหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง เพราะมีความชื้นและแมกนีเซียมต่ำมาก และแคลเซียมค่อนข้างต่ำ ส่วนเกลือสมุทรเหมาะที่จะใช้บริโภคเนื่องจากมีปริมาณไอโอดีนสูงกว่าเกลือสินเธาว์ กล่าวคือ ในเกลือ 10 กรัมเท่ากัน เกลือสมุทรจะมีไอโอดีนประมาณ 38.5 ไมโครกรัม ส่วนเกลือสินเธาว์มีเพียง 10 ไมโครกรัมเท่านั้น

     ไอโอดีน เป็นธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยปกติร่างกายมีความต้องการไอโอดีนประมาณ 75 มิลลิกรัมต่อปี ซึ่งนอกจากจะได้รับจากการบริโภคเกลือสมุทรแล้ว ยังได้จากการบริโภคอาหารทะเลอีกด้วย เมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนจะนำไปเก็บไว้ที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสมอง ประสาท และเนื้อเยื่อต่างๆ ถ้าร่างกายขาดไอโอดีนจะทำให้เป็นโรคคอพอก หรือทำให้ต่อมไทรอยด์บกพร่อง ถ้าขาดไอโอดีนตั้งแต่เด็กจะทำให้ร่างกายแคระแกร็น รูปร่างหน้าตาและสติปัญญาผิดปกติ หูหนวก เป็นใบ้ ตาเหล่ แขนขาเป็นอัมพาต หรือเดินโซเซ อาการขาดไอโอดีนดังกล่าวนี้มักจะเกิดกับประชาชนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ห่างไกลทะเล ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มธาตุไอโอดีนเข้าไปในเกลือสินเธาว์ โดยอาจผสมเข้าไปในรูปของไอโอด์ หรือไอโอเดด และเรียกเกลือนี้ว่า เกลืออนามัย หรือ เกลือไอโอเดต







การผลิตเกลือสมุทร

     เกลือสมุทรผลิตในจังหวัดชายทะเลหลายจังหวัด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฯลฯ ซึ่งการผลิตเกลือสมุทรนั้น แบ่งเป็นขั้นใหญ่ๆ 2 ขั้น คือ การเตรียมพื้นที่นาและการทำนาเกลือ

     การเตรียมพื้นที่นาต้องปรับพื้นดินให้เรียบและแน่น แบ่งที่นาเป็นแปลง แปลงละประมาณ 1 ไร่ ยกขอบของแต่ละแปลงให้สูงเหมือนคันนา และทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลง พื้นที่นาเกลือแบ่งเป็น 3 ตอน คือ นาตาก นาเชื้อ และนาปลง ซึ่งมีระดับพื้นที่ลดหลั่นลงตามลำดับเพื่อให้สะดวกในการระบายและขังน้ำทะเล



เกลือสมุทรที่ได้จากการผลิต

     ก่อนถึงฤดูทำนาเกลือ ชาวนาเกลือจะระบายน้ำทะเลเข้าเก็บไว้ในวังขังน้ำเพื่อให้ผงและโคลนตกตะกอน เมื่อถึงฤดูทำนาเกลือ คือระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม ชาวนาเกลือจะระบายน้ำทะเลจากวังขังน้ำเข้าสู่นาตาก โดยให้ระดับน้ำสูงกว่าพื้นนาประมาณ 5 เซนติเมตร กระแสลมที่พัดผ่านและความร้อนจากดวงอาทิตย์จะทำให้น้ำระเหย เมื่อน้ำทะเลมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.08 จึงระบายน้ำจากนาตากเข้าสู่นาเชื้อ ที่นาเชื้อนี้ CaSO4 จะตกผลึก ซึ่งเป็นผลพลอยได้ เมื่อน้ำในนาเชื้อระเหยต่อไปจนมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.20 ก็ระบายเข้าสู่นาปลง หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน NaCl จะเริ่มตกผลึกและจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน น้ำทะเลที่เหลือจะมีความเข้มข้นของ Mg2+ Cl- และ เพิ่มขึ้น จึงต้องระบายน้ำจากนาเชื้อเข้าไปเพิ่มอยู่เสมอเพื่อป้องกันมิให้ MgCl2 และ MgSO4 ตกผลึกปนกับ NaCl


เพราะเหตุใด MgCl2 และ NaCl จึงไม่ตกผลึกออกมาพร้อมๆ กัน

     โดยปกติชาวนาเกลือจะปล่อยให้ NaCl ตกผลึกอยู่ประมาณ 9-10 วัน จึงขูดเกลือออกขณะที่ยังมีน้ำทะเลท่วมเกลืออยู่ เพื่อล้างดินที่ติดกับเกลือออก เมื่อคราดเกลือมารวมกันเป็นกองๆ แล้วจึงระบายน้ำออกจากนาปลง ทิ้งเกลือไว้ประมาณ 1-2 วัน โดยทั่วไป NaCl ที่ผลิตได้จะมีปริมาณเฉลี่ย 2.5 – 6.0 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร และผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งในการทำนาเกลือ คือ กุ้งและปลาที่ติดมากับน้ำทะเล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น